วิกฤติศรัทธา! ตึก 'สตง.' ถล่ม ชำแหละปมมาตรฐาน 'เหล็กไทย'

04 กรกฎาคม 2568
วิกฤติศรัทธา! ตึก 'สตง.' ถล่ม ชำแหละปมมาตรฐาน 'เหล็กไทย'

จากการตรวจเหล็กที่ใช้สร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2568 ของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่ามีเหล็ก 3 ชนิด ตกค่ามาตรฐานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ได้แก่

1. เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร ตกทดสอบความสูงของบั้ง (การยึดเกาะกับปูน) 

2. เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร ตกทดสอบค่าเหล็กเบา (มวลต่อเมตร) 

3. เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร ตกทดสอบค่าแรงดึง (การรับแรง) 

โดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างเหล็กแล้วส่งให้ผู้แทนจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม นำเหล็กที่เก็บตัวอย่างมาจาก ตึก สตง. ถล่ม เข้าทำการทดสอบคุณภาพ ณ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2568 ประกอบด้วยเหล็ก 7 ประเภท ได้แก่

  • เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร 
  • เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร
  • เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร
  • เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร
  • เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร
  • เหล็กกลม ขนาด 9 มิลลิเมตร
  • ลวดสลิง ขนาด 15.2 มิลลิเมตร   

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 เม.ย.2568 นำโดย นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSIสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้แทนอิตาเลียนไทย ได้เข้าเก็บตัวอย่างเหล็กเพิ่มเติมจากบริเวณตึก สตง. ถล่ม 

โดยเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นหลายจุดหลากหลายชนิดเพิ่มเติมจำนวน 8 ชนิด ชนิดละ 5 ท่อน รวม 40 ท่อน เพื่อตรวจสอบตาม มอก. ในวันที่ 21 เม.ย.2568 ทันทีพบว่ามีเหล็กเส้นข้ออ้อยขนาด 20 มม. SD40T กรรมวิธีผลิตแบบ IF ยี่ห้อ SKY ตกทดสอบค่ามวลต่อเมตร (เหล็กเบา) เหมือนการทดสอบครั้งก่อนเมื่อช่วงต้นเดือนเม.ย.2568 
ทั้งนี้ สถาบันเหล็กฯ ได้ทดสอบทุกรายการตามมาตรฐาน มอก. 24-2559 ดังนี้ 

  • มวลต่อเมตร     
  • ช่วงระหว่างบั้ง ส่วนสูงของบั้ง และความกว้างครีบ 
  • ส่วนประกอบทางเคมี 
  • ความต้านแรงดึง (Tensile) 
  • ความต้านแรงดึงที่จุดคราก (Yield Strength) 
  • ความยืด (Elongation) 
  • ความดัดโค้ง (Bending)  
  • มุมระหว่างบั้งครีบแกนของเหล็ก 
  • เครื่องหมายที่เหล็กข้ออ้อย 

ผลปรากฏว่าเหล็กข้ออ้อย SKY 20 มม. ตกผลการทดสอบเช่นกัน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ส่งผลการตรวจสอบได้ส่งให้ DSI ดำเนินคดีตามขั้นตอนต่อไป 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร จะออกมาแถลงข่าวโดยระบุผลการตรวจสอบของกรมโยธาธิการ ว่าเป็นเรื่องที่ผิดจากการออกแบบและโครงสร้าง และเหล็กที่นำใช้ไม่มีปัญหา วัสดุอื่นที่นำมาใช้ไม่มีปัญหา ของที่นำมาไม่ผิด ซึ่งนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ชี้แจงว่า ไม่ว่า ‘เหล็กตํ่ามาตรฐาน’ จะเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตึกถล่มลงมาหรือไม่ก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของประชาชนคนไทย

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตรวจสอบ จัดการกับผู้ผลิตเหล็กที่ตัวโรงงานและผลิตภัณฑ์ไม่ได้มาตรฐานมาตั้งแต่ ธ.ค. 2567 เริ่มต้นตั้งแต่การเข้าตรวจและปิด บริษัท BNSS สตีล กรุ๊ป ต่อด้วย บริษัท ซิน เคอ หยวน และบริษัทอื่นๆตามมาอีกรวม 10 บริษัท

กรณี ซิน เคอ หยวน ที่ผลิตเหล็กไปใช้ในตึกสตง.นั้น จนถึงปัจจุบันโรงงานก็ยังปิด การผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานถูกส่งให้ DSI ดำเนินคดี

ต่อจากนั้น ซิน เคอ หยวน ก็ได้ถูกเพิกถอน BOI และ ดำเนินคดีในเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญไม่น้อยกว่าตัวเหล็ก เช่น เรื่องฝุ่น ที่มีครอบครองเกือบ 60,000 ตัน โดยที่ไม่ได้มีการแจ้ง มีการขนย้ายที่เข้าข่ายผิดกฏหมาย ได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดตั้งข้อหากับ ซิน เคอ หยวน และบริษัทที่เกี่ยวข้อง เพื่อส่งให้ DSI ดำเนินคดี ทั้งหมด 1,016 ข้อหา 
แหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ให้ความเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า นับตั้งแต่การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เมื่อเดือนกันยายน 2567 หนึ่งในนโยบายที่ได้ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม คือ การจัดการกับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้า และ เหล็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นก่อสร้าง ภาคสังคมได้รับทราบข่าวสารการจัดการกับเหล็กเส้นที่ไม่เป็นไปตาม มอก. อยู่เป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น เหล็กเบา ในเรื่องของส่วนประกอบทางเคมีที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงดัดงอแล้วหัก เป็นต้น

จากเหตุการณ์ ตึก สตง. ถล่ม มีการเก็บตัวอย่างเหล็กเส้นที่พบในซากตึกจำนวนหนึ่งไปทดสอบ ตามรายงานพบว่า ผลการทดสอบส่วนใหญ่ประมาณ 90% ผ่าน มอก. อีกประมาณ 10% ไม่ผ่าน ก็ยิ่งทำให้เป็นที่สนใจ เกิดข้อสงสัยและข้อห่วงกังวลเพิ่มขึ้นถึงประเด็นเรื่องเหล็กเส้นไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาด 

การเปิดเผยผลการสอบสวนตึก สตง. ถล่มถือว่าเป็นจังหวะเวลาที่ดี ที่จะปรับปรุงยกระดับความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของคุณภาพสินค้า และการใช้งานเหล็กเส้น โดยมุ่งไปที่เรื่อง 2 เรื่องที่ควรพิจารณาแยกจากกัน คือ

1. คุณภาพเหล็กเส้นที่ผลิตและจำหน่ายในบ้านเราในปัจจุบัน เป็นไปตาม มอก. อย่างมั่นใจได้หรือไม่

2. จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแล้วมีตึกถล่ม เหล็กมีปัญหาหรือไม่ 

สำหรับ เรื่องแรก คุณภาพของเหล็กเส้นที่ผลิตและจำหน่ายในบ้านเราในปัจจุบัน เป็นไปตาม มอก. อย่างมั่นใจได้หรือไม่

กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กให้มุมมองในเรื่องนี้ว่า ยังมั่นใจไม่ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีรายงานการตรวจพบเหล็กเส้นที่ตก มอก. อยู่เป็นระยะๆ โดยทีมสุดซอย ของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประเด็นนี้ อธิบายได้โดยข้อจำกัดของกระบวนการผลิตด้วยเตาเหนี่ยวนำ (Induction Furnace : IF) ในการควบคุมส่วนประกอบทางเคมีที่ต้องใช้ความพิถีพิถันอย่างมากในการคัดเลือกวัตถุดิบเศษเหล็กที่มีส่วนประกอบทางเคมีที่เหมาะสม มีความสะอาด ไม่มีสารมลทินและสิ่งเจือปนที่มากเกินไป 

เนื่องจากกระบวนการ IF มีข้อจำกัดในการกำจัดสารมลทิน เช่น ฟอสฟอรัส กำมะถัน รวมทั้งข้อจำกัดในการกำจัดธาตุที่ต้องควบคุมไม่ให้มีปริมาณที่มากเกินไป เช่น โบรอน นอกจากนี้ กระบวนการในการทำให้เหล็กเส้นมีความแข็งแรง มีคุณสมบัติทางกลเป็นไปตามมาตรฐาน ยังมีด้วยกัน 2 วิธีหลัก 

  • วิธีแรก คือ การทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็ว เรียกว่า เหล็ก T-Tempcore 
  • วิธีที่สอง คือ การเติมธาตุผสมหรืออัลลอยเล็กน้อย (low alloy/micro-alloy) หรือเรียกว่า เหล็ก Non-T

ดังนั้น การผลิตเหล็ก T-Tempcore ต้องมีการบำรุงรักษาเครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่ต้องสามารถควบคุมทั้งส่วนประกอบทางเคมีและการควบคุมการรีดและอัตราการเย็นตัวของเหล็กเส้นที่แม่นยำ มิฉะนั้นจะไม่สามารถผลิตเหล็กเส้นที่มีคุณสมบัติตาม มอก. ได้อย่างสม่ำเสมอ 

ในเรื่องนี้ จึงต้องสนับสนุนความพยายามของกระทรวงอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ต่อไปในการกำจัดเหล็กเส้นที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่ให้ออกสู่ทั้งงานโครงการและท้องตลาดทั่วไป ด้วยการตรวจสอบกำกับดูแลการผลิตและการควบคุมคุณภาพ เพื่อให้การส่งมอบหรือจำหน่ายสินค้าเหล็กเส้นทุกเส้นอย่างมั่นใจได้ 100% ว่ามีคุณภาพเป็นไปตาม มอก. เพื่อปกป้องผู้บริโภคให้ได้ใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด

ส่วน เรื่องที่สอง จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นแล้วมีตึกถล่ม เหล็กมีปัญหาหรือไม่ ทั้งนี้ ภายหลังจากการเปิดเผยผลสอบตึก สตง ถล่ม มีถ้อยแถลงส่วนหนึ่งที่ระบุว่า ‘ในเรื่องของวัสดุต่างๆ ทั้งเหล็กและคอนกรีตเป็นวัสดุปกติที่ได้มาตรฐานของทั่วไป แต่การนำมาใช้ในโครงการนี้ พบปัญหาในส่วนของคอนกรีตที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งเป็นปัญหาเฉพาะของโครงการนี้เท่านั้น’ ถ้อยแถลงในส่วนนี้ ยังคลุมเครือไม่ชัดเจน เช่น ทราบได้อย่างไรว่าเหล็กเส้นปริมาณมากที่ใช้งานทั้งหมดมีคุณสมบัติได้มาตรฐาน หรือ ทราบได้อย่างไรว่าเป็นปัญหาเฉพาะของโครงการนี้เท่านั้น

และการที่ก่อนหน้านี้ มีการแถลงผลการทดสอบเหล็กจำนวนหนึ่งที่เก็บตัวอย่างจากซากตึก สตง. ว่า ‘ผลการทดสอบส่วนใหญ่ผ่านมาตรฐาน ประมาณ 90%’ แล้วได้มีการพิจารณาถึงผลที่เกิดจากเหล็ก 10% ที่ไม่ผ่านมาตรฐานหรือไม่อย่างไร ก็คงยังเป็นความคลุมเครือเช่นกัน 

หากมีสมมุติฐานว่า เหล็กไม่มีปัญหาเพราะเหล็ก ‘ส่วนใหญ่’ ทดสอบแล้วผ่าน มอก. ประกอบกับการออกแบบมีการเผื่อค่าความปลอดภัย หรือ safety factor ไว้ แล้วลงความเห็นว่า เหล็กไม่มีปัญหา ประเด็นของความคลุมเครือคือ เกณฑ์การยอมรับของคำว่า ‘ส่วนใหญ่’ คืออะไร อีกทั้งนิยามนี้อาจสร้างบรรทัดฐานที่เป็นปัญหาต่อไปในอนาคต 

ยิ่งไปกว่านั้น มอก. เหล็กเส้นในปัจจุบัน ในส่วนของคุณสมบัติทางกลโดยหลักคือ การกำหนดค่าขั้นต่ำของความต้านแรงดึง ความต้านแรงดึงที่จุดคราก และค่าความยืด ซึ่งการกำหนดค่าขั้นต่ำแบบนี้ อาจจะไม่เพียงพอต่อการออกแบบใช้งานกรณีแผ่นดินไหว เนื่องจาก ยังมีคุณสมบัติอื่นๆ ที่ต้องพิจารณา เช่น ถ้าความต้านแรงดึงที่จุดคราก ผ่านมาตรฐานก็จริง แต่มีค่าสูงมากเกินไปจนเข้าใกล้ค่าความต้านแรงดึง (ตอนเหล็กขาดออกจากกัน) อาจจะทำให้เหล็กขาดคุณสมบัติการยืดตัวที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่เกิดแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ดี หากมีการเปิดเผยวิธีการและผลการทดสอบเหล็กและวัสดุ ในรายงานผลสอบสวน ก็จะสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนมากขึ้นได้ ทั้งนี้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและรายงานผลการสอบสวนในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสที่สำคัญ เนื่องจากขณะนี้ มอก.เหล็กเส้น อยู่ในระหว่างการทบทวนเพื่อปรับปรุงมาตรฐานโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) จึงเป็นเวลาที่ควรจะพิจารณาปรับปรุงยกระดับ มอก. เหล็กเส้น ให้มีการกำหนดคุณสมบัติของเหล็กเส้น รวมถึงข้อแนะนำในการใช้งานในเงื่อนไขที่สำคัญๆ เช่น ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจากแผ่นดินไหว 

โดยการศึกษาและอ้างอิงจากมาตรฐานของประเทศที่มีการกำหนดคุณสมบัติของเหล็ก เพื่อใช้งานในเงื่อนไขต่างๆ เช่น มาตรฐานเหล็กเส้น ของ อเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และจีน เป็นต้น ตัวอย่างเช่นประเทศจีนกำหนดว่าเหล็กเส้นต้องมาจากเตาชนิด converter หรือจากเตา EAF เท่านั้น หรือบางประเทศกำหนดมาตรฐานเหล็ก low alloy steel ที่ยืดตัวได้สูง เหมาะกับบริเวณที่มีแผ่นดินไหวบ่อย

โดยสรุปแล้ว สิ่งที่ควรต้องจัดการให้เกิดขึ้นในขณะนี้คือ เหล็กเส้นทุกเส้นที่ส่งมอบหรือวางขายต้องได้มาตรฐาน ตาม มอก.อย่างมั่นใจได้ 100% และใช้โอกาสนี้เดินหน้าปรับปรุง มอก. เหล็กเส้นให้ประกอบด้วย ชั้นคุณภาพ ตลอดจนคุณสมบัติต่างๆ ด้วยองค์ความรู้ ที่จะทำให้สามารถนำไปใช้งานได้อย่างเหมาะสมในแต่ละเงื่อนไขของการใช้งาน 

สุดท้ายนี้ ต้องรอดูรายงานผลการสอบสวนว่าจะออกมาให้ความกระจ่างได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลและข้อเท็จจริงจากการสอบสวนที่นำมาสนับสนุนข้อสรุปที่ว่า ‘วัสดุต่างๆ ทั้ง เหล็กและคอนกรีตเป็นวัสดุปกติที่ได้มาตรฐาน’ และ เหล็กเส้นที่ตึก สตง ไม่มีปัญหาจริงหรือไม่.


แหล่งที่มา : กรุงเทพธุรกิจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

The information in the above report, publication and website has been obtained from sources believed to be reliable. However, Iron & Steel Institute of Thailand does not guarantee the accuracy, adequacy or completeness of the information. Any opinions or forecasts regarding future events may differ from actual events or results. In addition, Iron & Steel Institute of Thailand reserves the right to make changes and corrections to the information, including any opinions or forecasts, at any time without notice.